ตะคริว คือ อาการที่กล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งจนเป็นก้อนแข็งอย่างเฉียบพลัน เกิดกับกล้ามเนื้อมัดเดียวหรือหลายมัด โดยไม่สามารถบังคับได้ และอาการนี้จะอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วจะค่อย ๆ หายไปได้เอง การเป็นตะคริวบ่อยๆอาจจะเป็นได้บ่อยครั้ง และเกิดซ้ำๆได้ทุกๆวัน ทำให้เกิดอาการปวดหรือเจ็บกล้ามเนื้อมัดที่เกิดการหดเกร็ง
อาการตะคริวในผู้สูงอายุ มักเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อน่องขา ขณะนอนหลับในช่วงเวลากลางคืน เป็นเหตุให้ต้องสะดุ้งตื่นจากการนอนเนื่องจากอาการเจ็บปวดมาก
เป็นตะคริวบ่อยๆตอนกลางคืน เกิดจากอะไร?
หลายๆคนคงเคยประสบปัญหาการเป็นตะคริวตอนกลางคืน หรือ ในขณะนอนหลับ การเป็นตะคริวบ่อยตอนนอนส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดทรมานเป็นอย่างมาก ทำให้สะดุ้งตื่นได้เลยทีเดียว แต่เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ทำไมเมื่อเรานอนอยู่ ถึงเกิดเป็นตะคริวขึ้นมาได้ และสามารถป้องกันไม่ให้ตะคริวเกิดขึ้นอีกได้หรือไม่
สาเหตุของการเกิดตะคริว
ตะคริวเกิดจากการที่กล้ามเนื้อขาดการยืดหยุ่น ทำให้มีการหดรั้งของกล้ามเนื้อ หรือ เกิดจากการที่กล้ามเนื้อมัดนั้นๆ มีการหดเกร็งตัวมากขึ้นพร้อมกันทันที โดยเฉพาะเกิดกับกล้ามเนื้อน่องขา อันเกิดมาจากกระแสประสาทที่ควบคุมการเกร็งตัวและหดตัวของกล้ามเนื้อทำงานไม่สมดุลกัน หรืออาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากสาเหตุต่างๆ เช่น มีการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นๆมากเกินไปอย่างต่อเนื่อง การนั่งหรือยืนในท่าเดิมนานๆ หรือ มีความไม่สมดุลของแร่ธาตุแมกนีเซียมและแคลเซียมในร่างกาย หรือ เลือดไหลไปยังกล้ามเนื้อได้ไม่เพียงพอ หรือเส้นประสาทกระดูกสันหลังถูกกดทับอาจเป็นต้นเหตุทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง
ปัจจัยของการเป็นตะคริวบ่อยตอนกลางคืน
- มีการใช้กล้ามเนื้อมากๆตอนกลางวัน เช่น เดิน หรือ ยืนทั้งวัน หรือ เล่นกีฬามากเกินไป
- เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล โดยเฉพาะการขาดแร่ธาตุแมกนีเซียม จะทำให้เป็นตะคริวได้บ่อยที่สุด
- ผู้ที่มีภาวะปริมาณแคลเซียมในเลือดต่ำ ส่งผลให้เป็นตะคริวได้
- มีภาวะหลอดเลือดแดงทำงานผิดปกติ มีความผิดปกติ
- การนอนในอุณหภูมิห้องที่เย็นเกินไป จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งและเป็นตะคริวได้ง่ายขึ้น
เป็นตะคริวบ่อยตอนกลางคืน แก้ยังไง ควรทำอย่างไร?
- หากเกิดตะคริวขณะออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ให้ยืดเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อ หรือ นวดบริเวณที่เป็นตะคริวประมาณ 1-2 นาที
- ถ้าเป็นตะคริวขณะว่ายน้ำ เราต้องตั้งสติ พยายามทำให้ตัวของเราลอยน้ำอยู่ตลอดเวลา
- หากเกิดอาการตะคริวที่ขาในขณะที่เรากำลังนอนหลับ ให้เหยียดขา ยืดขาให้ตรง กระดกข้อเท้าขึ้นหรือปลายเท้าขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที ทำแบบนี้ 5-10 ครั้ง แล้วนวดกล้ามเนื้อขาเบาๆ
วิธีดูแลตัวเอง เพื่อป้องกันการเป็นตะคริวบ่อยตอนกลางคืน
- ควรอบอุ่นร่างกาย ยืดเส้นยืดสาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ก่อนเริ่มและหลังออกกำลังกายเสมอ อย่าออกกำลังกายโดยไม่มีการยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกาย
- ฝึกบริหารกล้ามเนื้อมัดที่เป็นตะคริวบ่อย ๆเพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- หลีกเลี่ยงการเดิน หรือ ยืนนานๆ หรือการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อหนักอย่างต่อเนื่อง
- รับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูง เช่น ถั่ว เม็ดธัญพืช ผักใบเขียว เป็นต้น
- ทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีแมกนีเซียม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน
การออกกำลังกาย และทานอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมให้เพียงพอ มีส่วนช่วยลดการเป็นตะคริวบ่อยตอนกลางคืน
อาการตะคริวเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย หากเรารู้วิธีรับมืออย่างถูกต้องจะสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเป็นตะคริว ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และทานอาหารที่มีแร่ธาตุแมกนีเซียมให้เพียงพอทุกๆวัน
เมื่อเกิดอาการเป็นตะคริวบ่อยตอนกลางคืน จนเริ่มรบกวนการนอน และทำการรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจประเมิน วินิจฉัยแยกโรค และรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป